การดำเนินงานการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
การจัดการศึกษาต่อเนื่อง เป็นการจัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการ ความจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้เรียน สถานศึกษาต้องจัดให้มีกระบวนการวิเคราะห์ตนเองของผู้เรียน โดยยึดหลักปรัชญาคิดเป็นและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การจัดกิจกรรมสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียน ดังมีกระบวนการตามกรอบแนวคิด ต่อไปนี้
กรอบแนวคิดการจัดการศึกษาต่อเนื่อง
จากกรอบแนวคิดการจัดการศึกษาต่อเนื่อง จะเห็นว่า การเตรียมความพร้อมก่อนดำเนิน การจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่องให้แก่ผู้เรียน จะต้องคำนึงถึงความต้องการ ความจำเป็น และความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคนสถานศึกษาจึงควรต้องศึกษาข้อมูลและดำเนินการตามกระบวนการ โดยฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ตนเองให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถค้นหาสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง อันจะนำไปสู่การเลือกเรียนกิจกรรม กศน. ได้อย่างเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด ในการฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์ตนเอง เป็นการบูรณาการ “หลักปรัชญาคิดเป็น” และ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในกระบวนการเลือกและการตัดสินใจของผู้เรียน ซึ่งสามารถประมวลได้เป็น 2 ด้าน คือ1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ผู้เรียนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ สามารถที่จะหาทางช่วยตนเองเป็นเบื้องต้น โดยการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การจัดการชีวิตด้านการลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้2. ปัญหาทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนสามารถนำผลจากการวิเคราะห์สู่กิจกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เป็นรายบุคคล
ซึ่งสถานศึกษา กศน. จะได้จัดเป็นกิจกรรมการศึกษาใน 2 รูปแบบ คือ
1. รูปแบบกลุ่มสนใจ เป็นการจัดการศึกษาหลักสูตรที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน โดยหลักสูตรมีความยืดหยุ่นด้านเนื้อหา สาระ ระยะเวลาเรียน และสถานที่ตามความต้องการและความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมาย หรือชุมชน หรือนโยบายของทางราชการ
2. รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ เป็นการจัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาต่อยอด อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาของผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และชุมชนเข้มแข็งต่อไป
แนวทางการจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง
การจัดการศึกษาต่อเนื่อง ประกอบไปด้วยกิจกรรม การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน ซึ่งสถานศึกษาสามารถเลือกจัดในรูปแบบกลุ่มสนใจ และชั้นเรียนวิชาชีพ ได้ตามความเหมาะสมโดยใช้หลักสูตรจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
- หลักสูตรที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นเอง
- หลักสูตรกลางที่สำนักงาน กศน. จัดทำขึ้น
- หลักสูตรที่สถานศึกษาอื่นในสังกัด สำนักงาน กศน. จัดทำขึ้น
- หลักสูตรของสถานศึกษาอื่นที่ไม่สังกัด สำนักงาน กศน.
- หลักสูตรของหน่วยงานอื่น โดยได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานนั้น ๆ
ทั้งนี้ หลักสูตรต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และได้รับอนุมัติจากผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งมีแนวทางการจัดกิจกรรมการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ดังนี้
1. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ เจตคติ และมีทักษะในอาชีพตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ประกอบด้วย ทักษะเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐานการคิดแก้ปัญหา การสื่อสาร และทักษะเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาชีพ มีคุณลักษณะที่สำคัญในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตความคิดเชิงบวก ความมุ่งมั่นในการทำงาน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การรักษาสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน การจัดกระบวนการเรียนรู้เน้นการปฏิบัติจริง และการเรียนรู้จากวิทยากรหรือผู้รู้ที่ประกอบอาชีพนั้น ๆ
การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
- ระดับการพัฒนาอาชีพเพื่อการทำมาหากิน
- ระดับการพัฒนาต่อยอดอาชีพเดิม
แนวทางการจัดกิจกรรม
1. ให้ผู้เรียนวิเคราะห์ตนเอง ตามความสนใจเรียนในอาชีพนั้น ๆ
2. สถานศึกษาจัดหา หรือพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
3. ผู้สอน วิทยากร วิเคราะห์ผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐาน เป้าหมายที่ผู้เรียนต้องการ
4. ดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตร
5. วัดและประเมินผลการเรียน
6. การติดตามผล
2. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีความรู้ เจตคติ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน สามารถเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของข่าวสารข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอนาคต โดยเน้นการฝึกปฏิบัติให้ผู้เรียนเกิดทักษะชีวิต 10 ประการ คือ
(1) ทักษะการตัดสินใจ หมายถึง ความสามารถในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่าง
รอบคอบ
(2) ทักษะการแก้ปัญหา หมายถึง ความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมีระบบ
ไม่เกิดความเครียด
(3) ทักษะการคิดวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูล ข่าวสาร ปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้
(4) ทักษะการคิดสร้างสรรค์หมายถึง ความสามารถในการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ ช่วยในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา เพื่อค้นหาทางเลือกต่าง ๆ และผลที่จะเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก และสามารถนำประสบการณ์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีพลังในการต่อสู้ และอย่างเหมาะสมกับวัย
(5) ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง ความสามารถในการใช้คำพูด และท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกของตนเองอย่างถูกต้อง เหมาะสม เช่น การแสดงความคิดเห็น ความต้องการ ความชื่นชมการขอร้อง การเจรจาต่อรอง การตักเตือน การช่วยเหลือ การปฏิเสธ ฯลฯ
(6) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ หมายถึง ความสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล และรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ได้
(7) ทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การรู้จักและเข้าใจตนเอง เช่น รู้ข้อดี ข้อเสีย ของตนเองรู้ความต้องการ และสิ่งที่ไม่ต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้รู้ตัวเองเวลาเผชิญกับความเครียด หรือสถานการณ์ต่าง ๆ
(8) ทักษะความเห็นใจผู้อื่น หมายถึง มีความเข้าใจความเหมือนหรือความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้านความสามารถ เพศ วัย ระดับการศึกษา ศาสนา ความเชื่อ สีผิว อาชีพ ฯลฯ เข้าใจความรู้สึก และยอมรับบุคคลอื่นที่ต่างจากตนเอง
(9) ทักษะการจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึง การรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น รู้ว่าอารมณ์มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมอย่างไร รู้วิธีจัดการกับอารมณ์โกรธหรือโศกเศร้าที่ส่งผลทางลบต่อร่างกาย และจิตใจได้อย่างเหมาะสม
(10) ทักษะการจัดการกับความเครียด หมายถึง การรับรู้ถึงสาเหตุของความเครียด รู้วิธีผ่อนคลายความเครียดและแนวทางในการควบคุมระดับความเครียด
แนวคิดในเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ให้จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและเจตคติเกี่ยวกับเนื้อหาใน 7 เรื่อง โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นำทักษะชีวิต 1–10 ทักษะ มาบูรณาการให้ผู้เรียนมีเจตคติและมีทักษะชีวิตเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ เมื่อจัดครบทุกเนื้อหาแล้วผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาทักษะชีวิตครบทั้ง 10 ทักษะ
ส่วนเนื้อหาที่สถานศึกษานำไปจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตเน้นใน 8 เรื่อง คือ
1. สุขภาพกาย-จิต
2. ยาเสพติด
3. เพศศึกษา
4. คุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
6. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
7. ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต
8. ศูนย์ดิจิทัลชุมชน
โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีทัศนคติ ค่านิยมที่ถูกต้อง ได้ฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นตัวอย่าง เช่น
- ผู้สูงอายุในชุมชน มีปัญหาป่วยเป็นโรคเบาหวาน/หัวใจ สามารถรวมกลุ่มจัดกิจกรรมทักษะชีวิต โดยฝึกทักษะคิดวิเคราะห์หาสาเหตุ ผลกระทบของโรคต่อการดำเนินชีวิต คิดแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารฝึกทักษะการคิดสร้างสรรค์เมนูอาหารต้านโรค ฝึกคิดวิเคราะห์ว่าตนเองเหมาะกับการออกกำลังกายแบบไหนเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และฝึกท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย เป็นต้น
- ผู้สูงอายุในชุมชน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ท้อแท้ ขาดกำลังใจ รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า สามารถจัดกิจกรรมทักษะชีวิต โดยฝึกทักษะการตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น ให้เล่าถึงความหลัง ความภูมิใจ ความสำเร็จในการเลี้ยงลูก เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ค้นหาความสนใจในงานอดิเรกเพื่อแก้เหงา หรือทำอาชีพได้ หากมีปัญหาเรื่องการพูดคุยสื่อสารกับคนในครอบครัว ให้ฝึกทักษะการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน หากมีปัญหาความเครียด ให้ฝึกทักษะการจัดการความเครียด โดยหาสาเหตุของความเครียดและวิธีการผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น
- กลุ่มเป้าหมายในชุมชน มีปัญหาความขัดแย้ง ทำผิดกฎจารจร ไม่รู้จักสิทธิหน้าที่ของพลเมืองดีตัดไม้ ทำลายป่า ทิ้งขยะจนล้นเมือง ติดยาเสพติด ท้องก่อนวัยอันควร ทุจริตคอรัปชั่น ถูกทำร้าย ขโมยทรัพย์สิน หลงเชื่องมงายในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ฯลฯ สามารถจัดกิจกรรมทักษะชีวิตโดย ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์จากข่าวหนังสือพิมพ์หรือสถานการณ์จริงที่เป็นปัญหาในชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุ ผลเสียที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ฝึกทักษะการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคิดหาทางเลือกที่ปฏิบัติได้ ฝึกทักษะการสื่อสารพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน เป็นต้น
แนวทางการจัดกิจกรรม
1. วิเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ชุมชน และนโยบายของแต่ละระดับ
2. การจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเน้นการชวนคิด ชวนคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ การสร้างเสริมเจตคติที่ดี และการฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็น เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
3. สื่อที่ใช้ในการจัดกิจกรรม อาจใช้ข่าวหนังสือพิมพ์ บทความ กระทู้จากเว็บไซต์ ละคร รวมถึงสื่อบุคคลที่เป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน เพื่อเรียนรู้เรื่องชีวิตในลักษณะ “บทเรียนชีวิต”ที่จะนำมาพูดคุยเพื่อร่วมกันคิดร่วมกันระมัดระวังป้องกันและหาทางแก้ไข
4. กลุ่มเป้าหมายที่เป็นจุดเน้น ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- เยาวชนกลุ่มเฉพาะ เช่น คุณแม่วัยใส กลุ่มเสี่ยงยาเสพติด
- กลุ่มอื่น ๆ
3. การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน เป็นการจัดกระบวนการให้บุคคลรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สร้างกระบวนการจิตสาธารณะ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติตลอดจนการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ดังนี้
3.1 การส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่
- หมู่บ้านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท
- การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่
- การทำบัญชีครัวเรือน
- วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์
แนวทางการจัดกิจกรรม หมู่บ้านเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท ประกอบด้วย
1. สำรวจชุมชน หมู่บ้าน ตำบลที่มีโครงการตามพระราชดำริ หรือพื้นที่ทรงงานของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว
2. ถอดองค์ความรู้จากสิ่งที่พระองค์ทรงงาน ร่วมกับประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งควรมีหัวข้อหลักในการถอดองค์ความรู้ ดังนี้
- หลักการ วิธีการในการแก้ปัญหา
- ผลสำเร็จจากโครงการ
- แนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้
3. เผยแพร่และนำไปสู่การปฏิบัติในชุมชน โดยการวิเคราะห์สภาพปัญหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและชุมชน
- จัดตั้งหมู่บ้าน/ชุมชนเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท
- กระบวนการดำเนินการควรครอบคลุมการเรียนรู้ด้านทฤษฎี การฝึกปฏิบัติ และการสร้างเสริมเจตคติที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (3 ห่วง 2 เงื่อนไข)
– ประสานความร่วมมือการดำเนินงานกับวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์
3.2 การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเน้นการแก้ปัญหาการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ สิ่งแวดล้อม และวิกฤติพลังงาน โดยเน้นการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนและการใช้เครื่องทุ่นแรง โดยให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้จากภูมิปัญญา จากการศึกษาค้นคว้านวัตกรรมที่มีอยู่ หรืออาจประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อปรับใช้ในครัวเรือน เช่น การนำขยะหรือมูลสัตว์ มาผลิตเป็นก๊าชชีวภาพ การถนอมอาหารโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
แนวทางการจัดกิจกรรม
1. สำรวจภูมิปัญญา นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของพื้นที่เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านพลังงานสะอาด ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2. เลือกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมในการดำเนินงาน
3. ประสานความร่วมมือกับภูมิปัญญา ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดกิจกรรม
4. จัดทำหลักสูตรและดำเนินการจัดกิจกรรมตามรูปแบบที่เหมาะสม
นิยามศัพท์
กลุ่มสนใจ หมายถึงการจัดการศึกษาหลักสูตรที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนเป็นการจัดการศึกษาหลักสูตรไม่เกิน 30 ชั่วโมง และมีผู้เรียนตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป
ชั้นเรียนวิชาชีพ หมายถึงการจัดการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาต่อยอดและเป็นการจัดการศึกษาหลักสูตรตั้งแต่ 31 ชั่วโมงขึ้นไป และมีผู้เรียนตั้งแต่ 11 คนขึ้นไป มี 2 ลักษณะ
1.ชั้นเรียนระยะสั้น เป็นการจัดการศึกษาตั้งแต่ 31-100 ชั่วโมง
2. ชั้นเรียนระยะยาว เป็นการจัดการศึกษา 100 ชั่วโมงขึ้นไป
เข้าชม : 288 |